Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมเป็นผู้ทวนสอบภายใต้โครงการ “ส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ เทศบาลตำบลโคกกลอย จังหวัดพังงา และเทศบาลตำบลวัดประดู่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

อัพเดท : 27/05/2568

113

  

          เมื่อวันที่ 13 – 14 พฤษภาคม 2568 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้เข้าร่วมเป็นผู้ทวนสอบภายใต้โครงการ “ส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” โดยดำเนินการตรวจสอบ ณ เทศบาลตำบลโคกกลอย จังหวัดพังงา และเทศบาลตำบลวัดประดู่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อประเมินความถูกต้องและความสอดคล้องของรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกับแนวทางขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (พิมพ์ครั้งที่ 2, ฉบับปรับปรุง กันยายน 2564)

        การดำเนินงานครั้งนี้นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ลักษณ์นารา ขวัญชุม รองผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ พร้อมด้วยคณะผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กมล ถิ่นสุราษฎร์ (สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จุฑามาศ รัตติกาลสุขะ (สำนักวิชาพหุภาษาและการศึกษาทั่วไป) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อภิรักษ์ บำยุทธ (สำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์) และเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการวิชาการ ร่วมดำเนินการตรวจสอบข้อมูล การเยี่ยมชมแหล่งปล่อยก๊าซ การสัมภาษณ์ผู้ปฏิบัติงาน และการตรวจสอบระบบการจัดการข้อมูล เพื่อยืนยันความถูกต้องของข้อมูลที่ใช้ในการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร

        วันที่ 13 พฤษภาคม 2568 คณะทวนสอบลงพื้นที่ ณ สำนักงานเทศบาลตำบลโคกกลอย โดยมีจ่าเอกสุวิทย์ พฤษาประเสริฐ รองปลัดเทศบาลฯ เป็นประธานการต้อนรับ พร้อมด้วยนางสาวเมธ์วดี เสรีเสถียรทรัพย์ นักวิชาการชำนาญการพิเศษ ผู้แทนจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และทีมที่ปรึกษาการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กรฯ

        ต่อมาในวันที่ 14 พฤษภาคม 2568 คณะได้ดำเนินการทวนสอบ ณ เทศบาลตำบลวัดประดู่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยได้รับเกียรติจากนายศรายุทธ์ เทพนวล ปลัดเทศบาลปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีฯ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการให้การต้อนรับ และมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรัณยู ใคลคลาย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สายสุนีย์ จำรัส และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐพล บุญนำ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี ร่วมเป็นที่ปรึกษาการประเมินฯ

        ทั้งนี้ การดำเนินงานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา หน่วยงานรัฐ และองค์กรในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยเฉพาะ SDG เป้าหมายที่ 13 “การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” และเป้าหมายที่ 17 “การสร้างความร่วมมือเพื่อการพัฒนา” อีกทั้งยังสอดคล้องกับเกณฑ์การจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวอย่างยั่งยืน (UI GreenMetric World University Rankings) ในด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (EC) และด้านการศึกษาและวิจัย (ED) อีกด้วย

รายละเอียดเพิ่มเติม : https://cas.wu.ac.th/archives/33690