
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เดินหน้าขับเคลื่อนโครงการวิจัย “หนึ่งสำนักวิชาหนึ่งอำเภอ” เพื่อนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และเทคโนโลยี ลงไปช่วยแก้ปัญหาชุมชน
(4 มกราคม 67) รองศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มวล.กำลังขับเคลื่อนนโยบายทางด้านวิจัย ภายใต้ชื่อโครงการ“หนึ่งสำนักวิชาหนึ่งอำเภอ หรือ One School One District (OSOD)” โดยให้สถานวิจัยของสำนักวิชาและวิทยาลัยต่าง ๆ ลงพื้นที่จัดเวทีประชุม เพื่อค้นหาและวิเคราะห์ปัญหา รวมถึงแนวทางการวิจัยเบื้องต้นในอำเภอต่างๆ และนำมาวิเคราะห์ปัญหา นำไปสู่การพัฒนาเป็นข้อเสนอโครงการวิจัย/แผนงานวิจัยที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาและการขับเคลื่อนสังคมในบริบทของจังหวัดนครศรีธรรมราชจากฐานปัญหาและความต้องการของพื้นที่อย่างแท้จริง หลังจากนั้นจะบูรณาการการทำงานร่วมกันของนักวิจัยทุกสำนักวิชา ในการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และเทคโนโลยี หรือความเชี่ยวชาญต่าง ๆ ลงไปช่วยแก้ปัญหาให้แก่ชุมชน โดยจะนำร่องที่จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นเบื้องต้น
รองศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นโครงการดังกล่าวเกิดจากเป้าหมายในการขับเคลื่อนการเป็นหลักในถิ่นของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยยึดตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) เป็นตัวตั้งและนำแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัดนครศรีธรรมราช (พ.ศ.2566-2567) มาเป็นแนวทางในการกำหนดแผนการจัดประชุม โดยจัดสรรงบประมาณให้ทุนอุดหนุนการวิจัย ประเภทพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัยเต็มรูป (Full Proposal) ทุนละ 60,000 บาท โดยขณะนี้ทุกสำนักวิชาฯ ได้มีการลงพื้นที่อำเภอต่างของจังหวัดนครศรีธรรมราชแล้ว มีนายอำเภอ ข้าราชการ หรือหน่วยงานต่าง ๆ ในแต่ละอำเภอเข้าร่วมเพื่อพัฒนาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอำเภอในมิติต่าง ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม สุขภาพและคุณภาพชีวิตต่อไป
“เราได้กำหนดยุทธศาสตร์การวิจัยที่มุ่งตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ของประเทศ ขณะเดียวกันต้องเป็นแหล่งความรู้ในการขับเคลื่อนสังคม โดยอาศัยองค์ความรู้ในการแก้ไขปัญหาท้องถิ่น ซึ่งเราขอเริ่มที่จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นอันดับแรก ในส่วนของพื้นที่อื่น ๆ เราขับเคลื่อนผ่านศูนย์ความเป็นเลิศฯ ที่มีความเชี่ยวชาญและศักยภาพของศูนย์ความเป็นเลิศฯ ทั้งนี้ผมต้องขอขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ปลัดจังหวัดนครศรีธรรมราช นายอำเภอ ข้าราชการ และผู้ที่เข้าร่วมประชุมกับสำนักวิชาต่าง ๆ ในการประชุมของพื้นที่อำเภอต่าง ๆ ที่ทำให้นักวิจัยได้รับประเด็นปัญหาหรือความต้องการด้านการพัฒนาพื้นที่ที่สามารถนำไปพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัยและการบริการวิชาการที่สามารถแก้ไขปัญหาพื้นที่ได้อย่างแท้จริง”รองศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ กล่าว
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีศูนย์ความเป็นเลิศทั้งสิ้น 18 ศูนย์ และศูนย์วิจัยจำนวน 5 ศูนย์ ซึ่งครอบคลุมด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม สุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงองค์ความรู้ด้านการพัฒนาประเทศด้วย