Location

0 7567 3000

แนะนำนักวิจัยเด่น

รองศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ : กระบี่โมเดล นำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นวัตกรรม เสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก สร้างรายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืนให้แก่เกษตรกร

อัพเดท : 07/07/2566

323

รองศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ รักษาการแทนคณบดีสำนักวิชาการจัดการ และประธานหลักสูตรการตลาดดิจิทัลและการสร้างแบรนด์ มุ่งมั่นพัฒนางานวิจัยเพื่อนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นวัตกรรม เสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก และสร้างรายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืนให้แก่เกษตรกร

รองศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ เป็นชาวราชบุรี จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนวัดบวรนิเวศ กรุงเทพมหานคร จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาการตลาด (เกียรตินิยมอันดับ 2) และปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ปฏิบัติงานตำแหน่งอาจารย์สำนักวิชาการจัดการ ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 จากนั้นได้รับทุนพัฒนาอาจารย์สาขาขาดแคลนจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาข้าราชการพลเรือน หรือ (ก.พ.) ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก สาขาการตลาด ที่ University of Exeter ประเทศสหราชอาณาจักร

เส้นทางการทำวิจัย

          ในด้านการวิจัย รองศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ มีผลงานตีพิมพ์นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 ในระดับชาติและระดับนานาชาติไม่ต่ำกว่า 46 บทความ ได้รับทุนวิจัยภายนอกจากแหล่งทุนต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่า 38 โครงการ ที่รับผิดชอบในการพัฒนางานวิจัยทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยที่ได้นำองค์ความรู้ทางด้านการตลาด การสร้างแบรนด์ การจัดการการท่องเที่ยว และการบริหารจัดการสมัยใหม่ไปประยุกต์ใช้เพื่อขับเคลื่อนการสร้างงานวิจัยใช้ประโยชน์ โดยได้รับรางวัลนักวิจัยเด่นของสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) ถึงสองปีซ้อนในปี พ.ศ. 2557 และ 2558 รวมถึงการทำงานวิจัยกับภาคเอกชนในการพัฒนาธุรกิจและผลิตภัณฑ์ที่เป็นการสร้างมูลค่าทางธุรกิจ 

          รองศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ ได้มุ่งเน้นสร้างความเข้มแข็งทางด้านบริหารธุรกิจและการจัดการให้กับภาครัฐ เอกชนและชุมชนท้องถิ่นในภาคใต้ โดยผลิตผลงานทางวิชาการทั้งงานวิจัย บทความวิจัย บทความวิชาการและตำรา รวมทั้งการให้บริการวิชาการกับประชาชนและหน่วยงานภายนอกอย่างต่อเนื่อง โดยมีคณะนักวิจัยและนักวิชาการจากหลากหลายสหสาขาวิชาทั้งภายในมหาวิทยาลัยและภาคีเครือข่ายจากหน่วยงานภายนอก ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการกระบี่โมเดล ที่ผ่านมา ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และความร่วมมือจากนักวิจัยระดับแนวหน้าของ ม.วลัยลักษณ์ ม.สงขลานครินทร์ ตลอดจนหน่วยงานต่างๆในจังหวัดกระบี่ นำองค์ความรู้ลงไปขับเคลื่อน มุ่งแก้ปัญหาความยากจน สร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรและชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ โดยเฉพาะรายได้จากพืชหลักที่เกษตรกรดำเนินการอยู่ รวมถึงบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 พื้นที่จังหวัดกระบี่ นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ได้ขับเคลื่อนเครือข่ายการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ที่มีเครือข่ายระดับประเทศจำนวน 10 เครือข่าย และเครือข่ายในระดับจังหวัดอีก 12 เครือข่ายในการร่วมลงนาม MOU การขับเคลื่อน Krabi Carbon Neutral Tourism 2040 เป็นจังหวัดแรกของประเทศไทย
 

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการทำวิจัยของรองศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์

          การดำเนินการโครงการกระบี่โมเดลในปีที่ 2 ได้ดำเนินโครงการวิจัยจำนวน 6 โครงการ ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปาล์มน้ำมัน การเลี้ยงแพะในสวนปาล์ม การเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนนก การผลิตเห็ดร่างแห การพัฒนาผ้ามัดย้อมบาติกจังหวัดกระบี่ และการสร้างตัวแบบด้านการตลาดและการสร้างแบรนด์ ซึ่งได้มีการใช้องค์ความรู้ วิจัย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในการพัฒนาและส่งเสริมกระบวนการผลิตและแปรรูป โดยเน้นการปรับเปลี่ยนวิธีคิดของเกษตรกร เพื่อลดการพึ่งพาจากหน่วยงานภาครัฐ เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยการดำเนินงานภายใต้แนวคิด ที่เรียกว่า “เครือข่ายคุณค่า Value Network” เป็นแนวคิดที่ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ชุมชนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา หน่วยงานและองค์กรต่างๆเข้ามาร่วทางการตลาด มีการหมุนเวียนสินค้าและผลิตภัณฑ์ภายในจังหวัดหรือหมุนหมุนเวียนไปยังพื้นที่ต่างๆ ต่างจังหวัดหรือการส่งออกไปต่างประเศเพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้ชุมชนอย่างยั่งยืน
ผลกระทบของงานวิจัยต่อสังคมในด้านต่าง ๆ

          รองศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ ได้กล่าวถึงผลจากการขับเคลื่อนโครงการกระบี่โมเดลที่ผ่านมา พบว่าสามารถนำองค์ความรู้ไปเปลี่ยนวิธีการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิ การผลิตปาล์มน้ำมันจาก 3.5 ตันต่อไร่ต่อปี เป็นประมาณ 4.5 ตันต่อไร่ต่อปี การเพิ่มผลผลิตการเลี้ยงแพะในสวนปาล์มจาก 8 ตัวเป็นเกือบ 80 ตัวภายในระยะเวลา 2 ปี พร้อมลดค่าใช้จ่ายการดูแลสวนปาล์มไปพร้อมๆกันด้วย นอกจากนี้ยังสามารถส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนนกอาหารเอกลักษณ์ของจังหวัดกระบี่ การเพาะเห็ดร่างแห การผลิตเชื้อเห็ดภายในจังหวัดกระบี่ รวมถึงการพัฒนาสีธรรมชาติและลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดกระบี่ สร้างผ้ามัดย้อมจังหวัดกระบี่ที่มีเอกลักษณ์ โดยการนำองค์ความรู้ด้านการตลาด สร้างประสิทธิภาพการผลิตและเปลี่ยนวิธีคิดของเกษตรกรไปสู่การผลิตและมีวิถีชีวิตแบบไม่รอ ไม่ขอ และลงมือทำ

ในด้านการเรียนการสอน 

          รองศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ ได้รับการรับรองมาตรฐานการสอนแบบมืออาชีพจากประเทศสหราชอาณาจักร หรือ UKPSF ในระดับ Senior Fellow ปัจจุบัน รับผิดชอบสอนในระดับปริญญาตรี และบัณฑิตศึกษา รวมถึงเป็นอาจารย์พิเศษในหลายมหาวิทยาลัย อาทิ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์
นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ ยังมีผลงานการเป็นที่ปรึกษาในการสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์ทั้งระดับประเทศและระดับท้องถิ่น อาทิ น้ำตาลทราย ตรากุญแจคู่ ของบริษัท น้ำตาลทรายบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) กาแฟกระบี่ แบรนด์ท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ ร้าน Moo Moo ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด เป็นต้น ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้จะถูกถ่ายทอดให้กับนักศึกษาในหลักสูตรการตลาดดิจิทัลและการสร้างแบรนด์ รวมถึงการนำนักศึกษาลงพื้นที่จริงเพื่อเรียนรู้การขับเคลื่อนธุรกิจในโลกแห่งความเป็นจริง
ด้วยประสบการณ์ทั้งงานวิจัยและการให้คำปรึกษาภาคเอกชนในการตลาดดิจิทัลและการสร้างแบรนด์ของรองศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ เป็นส่วนหนึ่งที่หลักสูตรการตลาดดิจิทัลและการสร้างแบรนด์จะยืนยันได้ว่าเราจะสามารถติดอาวุธทางปัญญาให้กับนักศึกษา และร่วมสร้างนักการตลาดและนักสร้างแบรนด์มืออาชีพทั้งการทำงานเป็นมืออาชีพในภาคเอกชน หรือการบริหารจัดการแบรนด์ธุรกิจของตนเองได้

รางวัลที่ได้รับ
   

     1. Shortlisted UK Alumni Awards for 2021-2022 in Science and Sustainability, British Council.
     2. รางวัลศิษย์เก่าดีเด่น ประจำปี 2564 ด้านความสำเร็จในหน้าที่/อาชีพการงาน คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ในโอกาสครบรอบ 45 ปี คณะบริหารธุรกิจ
     3. รางวัล Best Paper บทความเรื่อง การสร้างอัตลักษณ์ทางการท่องเที่ยวของพุน้ำร้อนเค็มคลองท่อม จังหวัดกระบี่ งานประชุมวิชาการระดับชาติด้านบริหารธุรกิจ ครั้งที่ 8 คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแม่โจ้
     4. รางวัลนักวิจัยดีเด่น ประจำปี พ.ศ.2563 ประเภทที่ 1 High quality publication (Q1) จำนวนผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในฐานข้อมูลนานาชาติ Q1 ระดับ Senior researcher มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
     5. รางวัล Best Paper Award: Influences of Customer Value Co-Creation Behavior on Customer Brand Engagement of Furniture and Home Decoration Business in Thailand, the 7th Aalborg International Business Conference, Aalborg University, Denmark, 30 May – 1 June 2018
     6. รางวัล Best Presentation Award: Co-Creating the Tourism Identity of Gastronomic Creative City: The Case of Phuket, The 5th International Conference of Innovation, Valencia (Spain), 25 – 27 October 2017
     7. รางวัลผลงานวิจัยดีเด่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยจากแผนงานวิจัย แนวทางการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวพุน้ำร้อนเค็มคลองท่อม จังหวัดกระบี่อย่างยั่งยืน พ.ศ. 2558
     8. รางวัลศิษย์เก่าดีเด่น โรงเรียนวัดบวรนิเวศ ในวาระครบรอบปีที่ 80 สมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนวัดบวรนิเวศ
     9. รางวัลผลงานวิจัยดีเด่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยจากแผนงานวิจัย การพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จังหวัดกระบี่ พ.ศ. 2557
     10. รางวัล Bronze Award ในงาน Research Expo 2014 จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
     11. รางวัลการบริการวิชาการดีเด่น ปี พ.ศ. 2557 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จากผลงานท้อฟฟี่ส้มโอแสงวิมาณ
     12. รางวัลโปสเตอร์ยอดเยี่ยม การประชุมวิชาการวลัยลักษณ์วิจัย ครั้งที่ 3 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พ.ศ. 2556
     13. รางวัลการบริการวิชาการดีเด่น ปี พ.ศ. 2556 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จากผลงานเยลลี่ส้มโอแสงวิมาน

          รองศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ กล่าวในตอนท้ายว่า เป้าหมายที่สำคัญของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ คือการเป็นหลักในถิ่น องค์ความรู้ทางด้าน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เรามี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักวิชาการจัดการ ที่มีแนวคิดในการเป็นประตูแห่งความสำเร็จ พร้อมพันธมิตรสำนักวิชากอื่นๆ ภายในมหาวิทยาลัย เราพร้อมที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ทั้งหมดที่เรามี เพื่อร่วมขับเคลื่อนและสร้างระบบเศรษฐกิจที่เข้มแข็งให้กับประเทศไทยของเรา