Location

0 7567 3000

แนะนำนักวิจัยเด่น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี : ธนาคารปูม้า งานวิจัยที่ตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ เศรษฐกิจระดับมหภาคของประเทศและการสร้างมาตรฐานสากลให้กับการประมงไทย

อัพเดท : 07/07/2566

674

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ และอาจารย์ประจำสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผู้เป็นทั้งนักวิจัย ผู้บริหาร และอาจารย์ ที่ทุกหน้าที่ล้วนให้ประโยชน์เกื้อกูลกัน มุ่งมั่นพัฒนางานวิจัยที่สามารถสร้างอาชีพ และพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนฐานรากให้มั่นคงสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและทำให้การประมงไทยได้มาตรฐานระดับโลก พร้อมเป้าหมายในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน 

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี ภูมิลำเนาเป็นชาวอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช และเป็นศิษย์เก่า รุ่นที่ 3 สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร สาขาเทคโนโลยีการจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ก่อนได้รับทุนการศึกษา (ทุนพัฒนาอาจารย์สาขาขาดแคลน) เพื่อศึกษาต่อจนสำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาการจัดการประมง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท ได้เริ่มเข้าทำงานในตำแหน่งอาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยีการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2548 และได้รับทุนการศึกษาจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก จนสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกทางด้าน Ocean and Earth Science, National Oceanography Centre, University of Southampton ประเทศอังกฤษ

เส้นทางในการเป็นนักวิจัย

          เริ่มต้นมาจากความสนใจทางด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งตั้งแต่สมัยเรียนระดับปริญาตรี และพัฒนาต่อยอดในระดับปริญญาโท และเอก เพราะตระหนักว่าทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในระดับประเทศและระดับโลก ซึ่ง ปัจจุบันทรัพยากรดักล่าวมีความเสื่อมโทรมเป็นอย่างมาก เนื่องมากจากการนำไปใช้ประโยชน์โดยไม่ได้รับการดูแล

          “เป้าหมายหรือแรงบันดาลใจของผมในตอนนั้น คือ อยากเป็นอาจารย์และนักวิจัยทางทะเลที่เป็นที่รู้จัก อย่างน้อยที่สุด คือ ในระดับภูมิภาคหรือระดับประเทศ กอรปกับเมื่อสำเร็จการศึกษาได้กลับมาทำงานวิจัยด้านทะเลและชายฝั่ง การได้ทำงานร่วมกับชุมชนทำให้เห็นความลำบากของชาวบ้านฐานราก ที่เมื่อเทียบกับชนชั้นกลางหรือคนที่มีรายได้สูง ชาวบ้านเหล่านั้นต้องดิ้นรนในประกอบอาชีพ หารายได้หล่อเลี้ยงชีวิตและครอบครัว สิ่งนี้จึงเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญ ทำให้เราตระหนักว่าเมื่อใดที่ทรัพยากรทางทะเลที่คนฐานรากใช้ประกอบอาชีพเสื่อมโทรมลงไปเรื่อยๆหรือหมดไป ความสามารถในการหาเงินของเขาก็จะลดลงเรื่อยๆ ฉะนั้นในฐานะที่เราเป็นนักวิจัย เรียนมาตั้งแต่ ป.ตรี โท เอก เราควรเอาองค์ความรู้ที่มีไปช่วยเหลือและฟื้นฟูเพิ่มเติมทรัพยากรที่มีความสำคัญกับชีวิตเขา ให้เขามีทรัพยากรมากขึ้นเพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ลดความแตกต่างของรายได้ระหว่างคนฐานรากกับชนชั้นอื่น ๆ”

งานวิจัยไม่ใช่แค่ผลงานตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ 

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ มองว่า การทำงานวิจัยต้องไม่เป็นเพียงแค่งานขึ้นหิ้งหรือได้รับการตีพิมพ์แค่ในวารสารระดับนานาชาติเท่านั้น แต่งานความเป็นเลิศของงานวิจัย คือ ต้องรับใช้สังคม ให้ประโยชน์ต่อสังคมในแง่มุมใดแง่มุมหนึ่งตามแต่บริบทของงานนั้นได้เป็นอย่างดี

“ทุกครั้งที่เราลงพื้นที่ การได้เห็นสายตาของความตื่นเต้นและคาดหวังของชาวบ้าน ได้เห็นถึงความกระตือรือร้นในการอยากให้ชีวิตที่ดีขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นกำลังใจที่ส่งมาถึงเรา ทำให้เราอยากทำงานมากขึ้นและไม่กล้าละทิ้งความคาดหวังเหล่านั้นของเขา เช่น การทำธนาคารปูม้า เมื่อผลตอบรับดีขึ้น กลายเป็นพื้นที่ใกล้เคียงก็อยากทำด้วย เพราะเค้าเห็นชุมชนนี้มีรายได้เพิ่มขึ้น จากเดิมที่จับปูม้าได้ 2-3 กิโล/ครั้ง เพิ่มขึ้นเป็น 10 กิโล/ครั้ง ผลเชิงประจักษ์นี้ เป็นแรงกระตุ้นและหนุนเสริมให้การทำงานวิจัยหรือการประยุกต์ใช้องค์ความรู้จากการวิจัยของเราที่ได้ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนจริง ๆ”

งานวิจัยที่ตอบโจทย์ทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ เศรษฐกิจระดับมหภาคของประเทศและการสร้างมาตรฐานการประมงไทยในระดับนานาชาติ

          โครงการธนาคารปูม้า ที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ ได้ทำมาตลอดระยะเวลากว่า 5 ปี จากจุดเริ่มต้นในชุมชนชาวประมงเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในพื้นที่อำเภอท่าศาลา  จนปัจจุบันได้ขยายไปยังพื้นที่ 84 ชุมชนชายฝั่งของจังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฏร์ธานี เกาะสมุย และเกาะพงัน ส่งผลต่อปริมาณปูม้าที่เพิ่มขึ้น สร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน ภายใต้การสนับสนุนหลักจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) จากการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนฐานราก ไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจระดับมหภาคของประเทศแบบองคาพยพ และยังเป็นการสร้างมาตรฐานการประมงของไทยในระดับนานาชาติ ซึ่งเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ fisheryprogress.org ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการยอมรับในด้านความโปร่งใส และความน่าเชื่อถือด้านการติดตามตรวจสอบการทำประมง ที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ได้เผยแพร่ข้อมูลโครงการปรับปรุงการทำประมงปูม้าของประเทศไทย หรือ Thailand Blue Swimming Crab Fishery Improvement Project  ลงในหน้าเว็บไซต์  ซึ่งแสดงถึงความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการเพื่อปรับปรุงการทำประมงปูม้าในประเทศไทย

          โครงการ Fishery Improvement Project  หรือเรียกสั้นๆว่า “FIP” เป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนการทำประมงอย่างยั่งยืน ให้มีปริมาณสัตว์น้ำเพียงพอต่อการจับมาบริโภคในระยะยาว ควบคู่ไปกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงส่งเสริมการบริหารจัดการประมงอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ โครงการลักษณะนี้มีการดำเนินการในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งเป็นผลจากความตื่นตัวในเรื่องความยั่งยืนด้านอาหารทะเล หลังทรัพยากรประมงลดลงอย่างมาก และคาดว่าจะมีไม่เพียงพอต่อการบริโภคในอนาคต โครงการธนาคารปูม้า จึงถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมากในการนำพาการประมงของประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับนานาชาติ 

          “ตอนแรกมองเรื่องฐานรากก่อน ว่าจะทำยังไงให้ชุมชนด๊ขึ้น แต่การที่เราพัฒนาคนระดับฐานรากเท่ากับเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจระดับมหภาคของประเทศแบบองคาพยพ เช่น โครงการธนาคารปูม้าที่เราทำ ทำให้มีปริมาณปูม้ามากขึ้น จับได้มากขึ้น ชาวบ้านมีรายได้มากขึ้น มีวัตถุดิบป้อนโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อแปรรูปและส่งออก นอกจากเรื่องของการตอบโจทย์เศรษฐกิจฐานรากแล้ว ยังช่วยเรื่องของการสร้างมาตรฐานการประมงระดับนานาชาติ  หรือ Fishery Improvement Project (FIP) คือการทำประมงด้วยความรับผิดชอบ ก่อนทำธนาคารปูม้าผลการประเมินการทำประมงของประเทศไทยหรือค่า FIP Score อยู่ในระดับ C หลังจากทำงานวิจัยธนาคารปูม้าอย่างต่อเนื่อง 5 ปี สามารถยกระดับ FIP Score เป็น A ได้ สิ่งเหล่านี้มีผลทำให้การส่งออกปูม้าที่มีมูลค่า 1,500 ล้านบาท/ปี ไม่โดนกีดกันทางการค้า และเราพยายามเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งภายในมหาวิทยาลัย ชุมชน เครือข่ายภาครัฐและเอกชน เช่น สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กรมประมง เป็นต้น” 

ผลงานวิจัยเด่น เชื่อมต่อไปถึงรางวัล 

          ตลอดระยะเวลาการทำงานผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติด้านการนำวิชาการเพื่อรับใช้สังคมอย่างต่อเนื่อง เช่น รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 AIC Award นวัตกรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ มอบโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ธนาคารปูม้าของประเทศไทย รางวัล The great supporter งาน National Youth's Innovation Fair 2020 รางวัลเลิศรัฐ สาขาบริการภาครัฐ รางวัลเกียรติยศแห่งความสำเร็จ สออ.ประเทศไทย ปี 2565 (ASAIHL THAILAND OUTSTANDING ACHIEVEMENT AWARD 2022) ด้านบริการวิชาการแก่สังคม จากสมาคมสถาบันการศึกษาขั้นอุดมแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำประเทศไทย (สออ.ประเทศไทย)

          นอกจากนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ ยังได้รับการแต่งตั้งจากกรมประมงเป็นคณะกรรมการวิชาการระดับชาติเพื่อพัฒนายกระดับการประมงสู่ความยั่งยืน รวมทั้งเป็นอาจารย์ผู้อ่านพิจารณาบทความในวารสารตีพิมพ์นานาชาติที่มีค่า Impact factors สูง โดยมีความมุ่งมั่นในการทำงานบริการวิชาการเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนอย่างต่อเนื่องสร้างผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศและสร้างความมั่นคงทางอาชีพ และความมั่นคงทางอาหารของประเทศ