Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

ม.วลัยลักษณ์ จับมือ รพ.สต.ชุมชนสาธิตฯ ติดตามผลการดูแลฟื้นฟูผู้ป่วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

อัพเดท : 20/04/2567

328

 

     ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2567 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์จิรพัฒน์ นาวารัตน์ อาจารย์ ดร.จารุภา เลขทิพย์ สำนักวิชาสหเวชศาสตร์ อาจารย์พิริยา ชนสุต สำนักวิชาแพทยศาสตร์ พร้อมด้วยนักศึกษา และคณะทำงานศูนย์บริการวิชาการ บูรณาการความร่วมมือโครงการพันธกิจวิชาการรับใช้สังคมโดยติดตามผลการฟื้นฟูดูแลผู้ป่วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) และการนำสมุนไพรในชุมชนใช้ประโยชน์เพื่อการดูแลสุขภาพ หลังจัดโปรแกรมการออกกำลังกายร่วมกับชาสมุนไพรสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) รายบุคคล พบว่า กลุ่มเสี่ยงจำนวน 18 คน มีการทนทานของหัวใจและปอดดีขึ้นอย่างชัดเจน (SDGs 3) ซึ่งการติดตามผลดังกล่าวเป็นหนึ่งในกิจกรรมของชุดโครงการ "วลัยลักษณ์สุขภาพโมเดล : ฟื้นฟูคุณภาพชีวิต สร้างสุขภาวะอย่างยั่งยืน พื้นที่ชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัย" ที่คณาจารย์สำนักวิชาต่างๆ ร่วมบูรณาการกิจกรรมกับภารกิจบริการวิชาการ การวิจัย และการเรียนการสอน เพื่อให้สอดคล้องกับ รายวิชาพื้นฐานกายภาพบำบัดชุมชน และรายวิชากายภาพบำบัดเพื่อผู้พิการในชุมชน ของสำนักวิชาสหเวชศาสตร์ รายวิชาหัตถเวชกรรมแผนไทย 6 ของสำนักวิชาแพทยศาสตร์ (SDG 4) ด้วย


       ชุดโครงการ "วลัยลักษณ์สุขภาพโมเดล : ฟื้นฟูคุณภาพชีวิต สร้างสุขภาวะอย่างยั่งยืน พื้นที่ชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัย" เป็นการบูรณาการความรู้ด้านสุขภาพของสำนักวิชาสหเวชศาสตร์ สำนักวิชาแพทยศาสตร์ และสำนักวิชาเภสัชศาสตร์ ภายใต้โครงการพันธกิจวิชาการรับใช้สังคมยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์แบบองค์รวม (WU – Social engagement) ปีงบประมาณ 2567 มุ่งเน้นส่งเสริมสุขภาพและฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงด้วยกายภาพบำบัด พัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรและสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนด้วยแพทย์แผนไทยประยุกต์ ยกระดับสมุนไพรสู่ผลิตภัณฑ์น้ำมันนวดสมุนไพรชุมชน พัฒนาระบบการให้บริการส่งเสริมและป้องกันโรคแก่ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค เผยแพร่ผลจากการบูรณาการความร่วมมือกิจกรรมที่สอดคล้องการเรียนการสอน การวิจัย ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและการบริการวิชาการในรูปแบบของ Social Engagement ให้สามารถยกระดับเป็นวลัยลักษณ์สุขภาพโมเดลในพื้นที่ชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งการร่วมมือของทั้งสามสำนักวิชาจะสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายข้อที่ 3 “Good Health and Well-being” มุ่งเน้นการส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้สูงอายุในระดับท้องถิ่น ชุมชน เป้าหมายข้อที่ 4 “Quality Education” การสร้างการศึกษาที่เท่าเทียมและทั่วถึง ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ทุกคน และเป้าหมายข้อที่ 17 “Partnerships for the Goals” มีการสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

รายละเอียดเพิ่มเติม : https://www.cas.wu.ac.th