Location

0 7567 3000

ข่าวการศึกษา

นัส-นัสรีนันท์ น.ศ.มวล.แชร์ประสบการณ์ล้ำค่า ศึกษาดูงานด้าน Startup ที่ญี่ปุ่น

อัพเดท : 07/03/2567

894

นัส-นัสรีนันท์ นักศึกษาจากวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ แชร์ประสบการณ์ล้ำค่าผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ ELP เป็น 1 ใน 35 คน เดินทางไปศึกษาดูงานบริษัทชั้นนำด้าน Startup ที่เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

นัส นางสาวนัสรีนันท์ หวันเหล็ม นักศึกษาชั้นปีที่ 2 หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) วิทยาลัยนานาชาติ  มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 35 คน จากกว่า 700 คนทั่วประเทศ​ ให้เข้าร่วมโครงการ EXPERIENTIAL LEARNING PROGRAM (ELP PROGRAM) ภายใต้โปรแกรมการเรียนรู้จากประสบการณ์เพื่อเร่งการเป็นผู้ประกอบการ จากมหาวิทยาลัยในเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ร่วมกับพันธมิตรระหว่างประเทศ  โดยได้เดินทางไปศึกษาดูงานบริษัท Bornrex ซึ่งเป็นบริษัทที่ช่วยเหลือ Startup ที่เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

นัสเล่าถึงโครงการ ELP ว่า มีการคัดเลือกตั้งแต่เดือนเมษายน-สิงหาคม 2023 เนื่องจากมีการแข่งขันถึง 3 ระดับ คือ ระดับมหาวิทยาลัย ระดับภูมิภาคและระดับประเทศ โดยมีการ Boot camp เพื่อให้ความรู้และสร้าง Mine set ความเป็นผู้ประกอบการให้กับเราระหว่างการแข่งขันเรามีโอกาสได้รับความรู้ด้านธุรกิจ จากเจ้าของบริษัท Startup และยังได้ Connection ในการทำธุกิจจากเพื่อน ๆ จากหลายมหาวิทยาลัย รวมถึงคำแนะนำจากอาจารย์และพี่ ๆ จาก WEDA (Walailak Entrepreneurship Development Academy) ที่คอยแนะนำเรื่องการ Pitching รวมถึงเทคนิคการพรีเซนต์โมเดลธุรกิจของเรายังไงให้กรรมการเข้าใจ จากคนที่ไม่มีความรู้พื้นฐานด้านนี้มาก่อนเลย ก็สามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วและทำออกมาได้ดีจนทำให้เราผ่านการคัดเลือกได้

“หลังจากได้เป็น 1 ใน 35 คนแล้วทางโครงการก็จะแบ่งให้ไปในแต่ละประเทศ ที่ได้ทำความร่วมมือไว้ได้แก่​ ประเทศไต้หวัน ฝรั่งเศส สิงคโปร์ เกาหลีและญี่ปุ่น ขึ้นอยู่กับประเภทของผลงาน ซึ่งนัสได้ไปญี่ปุ่นจากผลงานคือ COCOCLEAN คลีนซิ่งบาร์มจากน้ำมันมะพร้าว ไปดูงานที่บริษัท Bornrex ซึ่งเป็นบริษัทที่ช่วยเหลือ Startup ของประเทศญี่ปุ่นในการจัดตั้งบริษัทและประสบความสำเร็จไปแล้วหลายธุรกิจ”

 

นัส บอกถึงสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากการได้ทำงานร่วมกับคนญี่ปุ่นว่า การได้ฝึกการทำ costumer interview ในแต่ละวันจะต้องมีการออกไปสัมภาษณ์กลุ่มลูกค้าของเรา และเอามาปรับปรุงทำผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้า ทำให้ได้เรียนรู้ว่าแนวคิดการทำธุรกิจของคนญี่ปุ่นสวนทางกับคนไทยอย่างสิ้นเชิง โดยคนญี่ปุ่นจะเริ่มจากความคิดว่าจะขายให้ใครและผลิตสินค้าอะไร? แต่คนไทยจะคิดว่าจะขายอะไรและขายให้ใคร?  ที่สำคัญคนญี่ปุ่นจะคำนึงถึง sustainability คือ คนญี่ปุ่นเขาต้องการมี partner ทางธุรกิจที่อยู่กับเขาไปนานๆ การดีลจึงจะไม่เร่งรีบและใช้ความจริงใจเข้าหากันในทางธุรกิจ โดยยึดหลัก mission, harder solution  เพื่อเป็นตัวตั้งต้นในการก่อตั้งธุรกิจที่ยั่งยืน

“นัสชอบการตั้งคำถามต่อโปรดักต์ที่เราทำอยู่จากคนญี่ปุ่นมากๆ มันทำให้เรารู้ว่ามุมมองของเขาที่มีต่อธุรกิจของเราไม่เหมือนกันและคำแนะนำต่างๆที่คนญี่ปุ่นมอบให้ทำให้นัสมีแรงผลักดันในการที่จะทำProduct ชิ้นนี้ให้การออกมาดีที่สุด นอกจากนี้นัสยังประทับใจในอุปนิสัย​ การมีมารยาท ชอบช่วยเหลือคนอื่นและวัฒนธรรมองค์กรของคนญี่ปุ่นที่มีความรับผิดชอบสูงมากในทุกๆ เรื่อง และให้ความสำคัญกับความเท่าเทียม

ประสบการณ์ครั้งนี้เป็นอะไรที่แปลกใหม่เพราะยังมีโอกาสได้นั่งรถไปเที่ยวภูเขาไฟฟูจิ และสถานที่อื่นๆนอกโตเกียว ทำให้นัสเห็นสังคมที่แตกต่างกันระหว่างชนบทกับในเมือง ซึ่งเป็นชนบทที่น่าอยู่มาก มีรถเมล์ และความเจริญที่เข้าถึงแบบไม่เหลื่อมล้ำ รวมถึงการทำสิ่งก่อสร้างที่เอื้อประโยชน์ให้กับเด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ นัส จึงไม่แปลกใจว่าทำไม ญี่ปุ่นถึงเป็นสถานที่ๆ เป็น Dream destination ของคนทั่วโลก

ทั้งนี้การเรียนที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ทำให้นัสได้เปรียบในเรื่องของภาษา ที่นี่มีสิ่งแวดล้อมที่เป็นอินเตอร์โดยแท้จริง ทำให้เราสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี มีโอกาสได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนักศึกษาจากทั่วโลกผ่านโปรแกรมและกิจกรรมต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและทักษะชีวิต และมีโอกาสเดินทางไปแลกเปลี่ยนกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศทั่วโลกด้วย

ขอขอบคุณทีมงานอุทยานวิทยาศาสตร์มวล.ที่ให้คำแนะนำที่ดีกับนัสเสนอมา เป็นโอกาสที่นัสคิดว่าควรใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ยังได้รับความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมการทำงานของคนญี่ปุ่น ทำให้เข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างสังคมและวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศอย่างชัดเจน หากน้องๆที่สนใจที่จะแข่งขันในโครงการELP อย่ารอช้าที่จะสมัครเลย เพราะจะสร้างประสบการณ์ให้กับน้องๆ อย่างคุ้มค่าแน่นอน