Location

0 7567 3000

แนะนำนักวิจัยเด่น

รองศาสตราจารย์ ดร.จรวย สุวรรณบำรุง : เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกอย่างยั่งยืนจากครัวเรือนถึงจังหวัด

อัพเดท : 25/12/2566

222

รองศาสตราจารย์ ดร.จรวย สุวรรณบำรุง อาจารย์ประจำสำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ สาขาวิชาสาธารณสุขชุมชน และหัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิจัยและบริการวิชาการโรคไข้เลือดออก มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผู้อุทิศตนเพื่อการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกอย่างยั่งยืนมากว่า 30 ปี ด้วยโมเดลการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกในแต่ละพื้นที่และการบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ภายใต้หลักคิด “ทำให้ง่าย ทำเป็นทีม ทำพร้อมกัน ทำต่อเนื่อง” 

รองศาสตราจารย์ ดร.จรวย สุวรรณบำรุง เป็นชาวจังหวัดสงขลา สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิจัยเพื่อการพัฒนาสุขภาพ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระดับปริญญาโท พยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการพยาบาลบิดา มารดาและเด็ก จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระดับปริญญาตรี สาธารณสุขศาสตรบัณฑิต ทางด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และระดับปริญญาตรี ประกาศนียบัตรการพยาบาลและผดุงครรภ์ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีสงขลา

เส้นทางการทำวิจัยของ รองศาสตราจารย์ ดร. จรวย สุวรรณบำรุง
รองศาสตราจารย์ ดร.จรวย สุวรรณบำรุง ได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของความหลงไหลในการทำวิจัยเพื่อแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกของตนที่เริ่มมาจากการทำงานเป็นพยาบาลวิชาชีพขั้นสูง (Advanced Practice Nurse, APN) ของโรงพยาบาลสงขลา (เกาะยอ) จังหวัดสงขลา เมื่อปี พ.ศ. 2531 ทำให้พบเจอผู้ป่วยและเด็กที่เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกเป็นจำนวนมาก การมีระบบที่ดีทั้งในด้านการรักษาดูแลในโรงพยาบาลและการป้องกันในชุมชนจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อแก้ปัญหาและควบคุมโรคไข้เลือดอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมให้กับทุกพื้นที่ของประเทศ
     
“ที่โรงพยาบาลสงขลามีผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกจำนวนมาก โดยเฉพาะในเด็กที่ไม่สามารถป้องกันตัวเองจากยุงลายได้ และเด็กเป็นทรัพยาการที่มีค่าสูงยิ่งของประเทศ การสูญเสียเด็กเป็นการสูนเสียที่ยากต่อการทำใจยอมรับได้และรู้สึกว่าอยากทำงานเพื่อปรับปรุงระบบการรักษาพยาบาลเพื่อจัดการโรคไข้เลือดออกให้ดีขึ้นและให้บริการที่ดีแก่ผู้ป่วย ” รองศาสตราจารย์ ดร.จรวย กล่าว 

ผลงานวิจัยเด่น
ระบบเฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำยุงลายและการทำนายพื้นที่เสี่ยงเพื่อแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออก นับเป็นผลงานเด่นของ รองศาสตราจารย์ ดร.จรวย การศึกษาวิจัยจึงเน้นการลงพื้นที่บูรณาการทำงานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขผู้เกี่ยวข้อง และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) โดยการประเมินสถานการณ์ของแต่ละชุมชนเพื่อประกอบการตัดสินใจในการนำโมเดลการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกมาใช้ในแต่ละพื้นที่อย่างเหมาะสม  และการทำนายพื้นที่เสี่ยงต่อการระบาดของโรคไข้เลือดออก ที่อาศัยปัจจัยความรุนแรงของโรคไข้เลือดออกจากการระบาดซ้ำซาก ค่าเฉลี่ยอัตราป่วยและอุบัติการณ์ป่วยในปีปัจจุบันและปัจจัยด้านโอกาสที่จะเกิดการระบาดที่เน้นการดำเนินกิจกรรมของชุมชน โดยการทำนายแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน คือ 1) กำหนดเกณฑ์การวิเคราะห์หมู่บ้านพื้นที่เสี่ยงโรคไข้เลือดออก 2) การดำเนินการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และ3) ดำเนินการประชุมเพื่อเริ่มทำนายพื้นที่เสี่ยงและการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์

รองศาสตราจารย์ ดร. จรวย ยังเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์โปรแกรมคำนวณดัชนีลูกน้ำยุงลาย http://denguelim.com ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ถูกคิดค้นและออกแบบขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2556 เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ สังเคราะห์และแปลผลข้อมูลดัชนีลูกน้ำยุงลาย โดยศูนย์ความเป็นเลิศฯไข้เลือดออก ม.วลัยลักษณ์ สามารถนำโปรแกรมดังกล่าวไปปรับใช้ในระดับตำบลและอำเภอต่าง ๆ ของจังหวัดนครศรีธรรมราช ภายใต้ชื่อ http://nakhonsri.denguelim.com และได้ขยายให้มีการดำเนินการเชิงระบบใน 3 อำเภอของจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยใช้ชื่อ http://surat.denguelim.com 
     
ผลการดำเนินการระบบเฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำยุงลายและการทำนายพื้นที่เสี่ยงเพื่อแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกของ รองศาสตราจารย์ ดร. จรวย สามารถสร้างความตื่นตัวของชุมชน การลดลงของดัชนีลูกน้ำยุงลายและอัตราการป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ในรูปแบบโมเดลต่าง ๆ อาทิ โมเดลระดับจังหวัด ได้แก่ “สุราษฎร์เดงกีโมเดล”และโมเดลระดับอำเภอ ได้แก่ “ลานสกาโมเดล”  “ไชยาโมเดล” เป็นต้น รวมทั้งสิ้นจำนวน 7 โมเดล จาก 7 อำเภอ  373 หมู่บ้าน 68 รพ.สต/รพช. มีข้อมูลการเฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำทุกวันที่ 25 ของเดือนและนำเข้าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ 7 อำเภอที่ส่งต่อไปยังผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ มีข้อมูลของการทำนายหมู่บ้านพื้นที่เสี่ยงต่อการระบาดโรคไข้เลือดออก จำนวน 6 อำเภอ โดยมีการอบรมรวม 57 ศูนย์เฝ้าระวังฯ มี อสม. ของ 7 อำเภอ ที่รับการพัฒนาสมรรถนะความรู้เกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกและดัชนีลูกน้ำยุงลาย รวมจำนวน 6,701 คน  จำนวนแกนนำสุขภาพของ 42 อำเภอที่เข้าร่วมการถ่ายทอดฯ รวมจำนวน 2,685 คนผลงานตีพิมพ์ระดับชาติ 2 เรื่องและนานาชาติ 1 เรื่อง หนังสือ 3 เรื่อง การพัฒนาสมรรถนะวิจัยนักศึกษาปริญญาโทและตรี 8 เรื่อง 

นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.จรวย ยังมีบทบาทสำคัญในการจัดทำแนวปฏิบัติทางคลินิกไข้เลือดออก (DCPG) จากครัวเรือนสู่โรงพยาบาล ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลที่ครอบคลุมให้ประชาชนและผู้ประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์ใช้อ้างอิง เธอกล่าวว่าการพัฒนา DCPG นั้นขึ้นอยู่กับบริบท “จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจสถานการณ์ที่ไม่เหมือนกันในแต่ละพื้นที่ DCPG อาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับพื้นที่และเวลา”

ผลกระทบของงานวิจัยต่อสังคมในด้านต่าง ๆ

จากงานวิจัยและการดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกอย่างยั่งยืนและต่อเนื่องของ รองศาสตราจารย์ ดร. จรวย สามารถลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการป่วยด้วยไข้เลือดออกของประชากรในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทย เช่น กาญจนดิษฐ์โมเดล สามารถลดค่ใช้จ่ายจากการป่วยในปี พ.ศ. 2562 ประมาณ 701,409 บาท การเข้าถึงข้อมูลของประชาชนในการป้องกันโรคไข้เลือดออกของ 42 อำเภอ การตื่นตัวของพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานีโดยมีการดำเนินการตามบริบทของทั้ง 42 อำเภอ สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สามารถนำข้อมูลไปเผยแพร่ยังอำเภอในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษของจังหวัดตาก และจังหวัดตราด 

ผลลัพธ์ที่ได้จากการดำเนินงานตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทำให้มีอัตราการป่วยตายด้วยโรคไข้เลือดออกลดลง เช่น ไม่พบผู้ป่วยตายของกาญจนดิษฐ์โมเดล จากที่มีผู้ป่วยตายในปี พ.ศ. 2561 อัตราการป่วยด้วยโรคไช้เลือดออกลดลง เช่น พ.ศ. 2561 กาญจนดิษฐ์โมเดลมีจำนวนผู้ป่วย 333 ราย ลดลง 66 รายในปี พ.ศ. 2562 ค่าดัชนีลูกน้ำยุงลาย BI, HI, CI ลดลงส่งผลต่อความเสี่ยงต่อการเกิดโรคลดลง และอสม.มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคและดัชนีลูกน้ำยุงลายเพิ่มขึ้น

รองศาสตราจารย์ ดร.จรวย ย้ำว่าการจะรับมือไข้เลือดออกได้นั้น จะต้องลดความซับซ้อนของกระบวนการทำงาน อาศัยการทำงานร่วมกันเป็นทีมและความพยายามอย่างต่อเนื่อง และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน “อาการของโรคไข้เลือดออก มี 3 ระยะ คือ มีไข้ ช็อกและหายเป็นปกติ สามารถเปรียบได้กับสัญญาณไฟจราจร สีเหลือง แดง และเขียว ระยะไข้บ่งบอกถึงความจำเป็นในการรักษาเพื่อป้องกันการลุกลามไปสู่ระยะช็อก ผู้ป่วยไม่ควรอยู่ในภาวะช็อกเกิน 48 ชั่วโมง เนื่องจากการช็อกโดยมีเลือดออกในอวัยวะภายในอาจทำให้เสียชีวิตได้

รองศาสตราจารย์ ดร.จรวย เล่าอีกว่ายุงมักจะอาศัยอยู่ภายในรัศมี 100 เมตรจากถิ่นที่อยู่ หากมีรายงานผู้ป่วยที่ติดเชื้อไข้เลือดออกในหมู่บ้าน หรือชุมชน ผู้เกี่ยวข้องจำเป็นต้องดำเนินการทันที โดยการใช้ยากันยุงเพื่อป้องกันยุงกัด ปิดฝาภาชนะบรรจุน้ำและต้องเทภาชนะที่มีน้ำขัง มีตัวอ่อนลูกน้ำยุงลายออก การพ่นหมอกควันสามารถดำเนินการเพิ่มเติมได้โดยเจ้าหน้าที่หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ ที่สำคัญผู้ที่มีไข้นานเกิน 48 ชั่วโมง และ/หรือ มีอาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ต้องเร่งนำส่งโรงพยาบาล

ผลงานและรางวัล
     ด้วยความมุ่งมั่นในการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาโรคไข้เลือดออกให้แก่ชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย ทำให้ รองศาสตราจารย์ ดร.จรวย สุวรรณบำรุง ได้การชื่นชมและเชิดชูเกียรติเป็น “อาจารย์ดีเด่นด้านบริการวิชาการ ด้านวิชาการรับใช้สังคม” มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประจำปีการศึกษา 2565 และเข้ารับพระราชทานเข็มประกาศเกียรติคุณอาจารย์ดีเด่น จากสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2566 ที่ผ่านมารวมทั้งรางวัลอื่น ๆ ด้านการวิจัยและบริการวิชาการที่โดดเด่นอีก กว่า 10 รางวัล ดังนี้  
-    รางวัลผู้นำเสนอดีเด่นสาขาวิทยาการสุขภาพ และ Popular vote สาขาวิทยาการสุขภาพการประชุมวิชาการวลัยลักษณ์วิจัย ครั้งที่ 3 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
-    รางวัลโล่เชิดซูเกียรติบุคลากรดีเด่นด้านการวิจัย ปี 2555 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (29 มีนาคม 2556)
-    รางวัลเชิดชูบุคลากรดีเด่น ด้านการบริการวิชาการ พ.ศ. 2556 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (28 มีนาคม 2557)
-    รางวัลโครงการวิทยาศาสตร์สู่ความเป็นเลิศ พ.ศ. 2556 วุฒิสภา (2 ตุลาคม 2556)
-    รางวัลชื่นชมโครงการบริการวิชาการ 2558 (28 มีนาคม 2559)
-    โล่เชิดชูผลงานด้านการบริการวิชาการ ปี 2558 (29 มีนาคม 2559)
-    รางวัลผลงานวิจัยเด่นด้านพื้นที่และชุมชน สกว. ปี 2558 (26 กุมภาพันธ์ 2559)      
-    รางวัลการนำเสนอผลงานวิจัยแบบ HERP IV (10 กุมภาพันธ์ 2559)
-    รางวัลชื่นชมโครงการบริการวิชาการ 2559 (29 มีนาคม 2560)
-    รางวัลผลงานวิจัยดีเด่นด้านรับใช้สังคม ปี 2560 (29 มีนาคม 2560)
-    รางวัลดีเด่นผลงานบริการวิชาการ ปี 2560 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (29 มีนาคม 2561)