Location

0 7567 3000

แนะนำนักวิจัยเด่น

รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐวิทย์ วัฒนสกุลพงศ์ : World ‘s Top 2 Percent Scientists in Mechanical Engineering & Transports

อัพเดท : 21/11/2566

232

รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐวิทย์ วัฒนสกุลพงศ์  อาจารย์ประจำสาขาวิชา วิศวกรรมเครื่องกลและหุ่นยนต์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิศวกรรมเครื่องกลและหุ่นยนต์   มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์  สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก  ทางด้าน Mechanical Engineering  จาก The University of New South Wales (UNSW), Sydney, Australia  ระดับปริญญาโท วิศวกรรมเครื่องกล  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ  และระดับปริญญาตรี วิศวกรรมเครื่องกล  จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 

รางวัลและผลงาน
     รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐวิทย์ วัฒนสกุลพงศ์  เป็นนักวิจัยที่อยู่ในกลุ่ม World’s top 2% scientists ทั้งในสาขา วัสดุ และวิศวกรรมเคื่องกลและการขนส่ง (3ปีติดต่อกัน) มีความเชี่ยวชาญทางด้าน

•    Mechanics of composite materials and structures
•    Functionally graded materials
•    Nano-reinforced composites
•    Non-linear stability and dynamic of composite structures

จุดเริ่มต้นและเส้นทางการทำวิจัย ของ รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐวิทย์ วัฒนสกุลพงศ์  
     มีความสนใจในกลศาสตร์ของวัสดุ (Mechanics of materials) จึงตัดสินใจทำงานด้านนี้มาตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน เริ่มศึกษาพฤติกรรมของวัสดุขั้นสูงที่ใช้ในงานวิศวกรรมอากาศยาน วิศวกรรมยานยนต์และระบบราง ที่เรารู้จักกันนั่นคือวัสดุคอมโพสิตที่มีการเสริมกำลังด้วยเส้นใยไฟเบอร์ (Fiber-reinforced composites) โดยการใช้กฎการขยายสเกลเพื่อออกแบบชิ้นส่วนเล็กๆ ในห้องปฎิบัติการแต่สามารถทำนายพฤติกรรมของชิ้นส่วนจริงที่มีการใช้งานได้ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวัสดุคอมโพสิตกลุ่มใหม่ เช่น วัสดุคอมโพสิตเชิงฟังชันก์ (Functionally graded materials)  วัสดุแบบแซนวิช (Sandwich materials)   และวัสดุ
คอมโพสิตยุคใหม่ที่มีการเสริมกำลังด้วยวัสดุนาโน ทั้งในกลุ่มของ คาร์บอนนาโนทิวบ์ (Carbon nanotubes) และแผ่นกราฟีน (Graphene platelets) เนื่องจากการศึกษาและวิจัยวัสดุคอมโพสิตยุคใหม่จำเป็นต้องใช้วิธีการทางคณิตศาสตร์เชิงลึกจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพของตนเองในทางด้านคณิตศาสตร์ควบคู่ไปด้วย 

ผลงานวิจัย
     งานวิจัยที่ได้รับการยอมรับสูงสุดคือผลงานที่ได้ตีพิมพ์ในวารสาร Aerospace Science and Technology  ซึ่งจะเกี่ยวกับการพัฒนาแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่สำคัญต่อการออกแบบชิ้นส่วนทางวิศวกรรมที่ทำมาจากวัสดุเชิงฟังชันก์ โดยพัฒนาแบบจำลองให้ครอบคลุมอิทธิพลของความไม่สมบูรณ์จากกระบวนการผลิตที่เกี่ยวข้องกับการเกิดรูพรุนในเนื้อวัสดุซึ่งเป็นสื่งที่เกิดขึ้นได้ ในขณะที่แบบจำลองก่อนหน้านี้ไม่ได้นำอิทธิพลที่สำคัญนี้มาพิจารณา 

ผลกระทบของงานวิจัยต่อสังคมในด้านต่าง ๆ
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจของงานวิจัยที่กล่าวมาจะมีผลอย่างมากสำหรับงานทางวิศวกรรมที่มีมูลค่าสูงเช่นชิ้นส่วนอากาศยาน รถไฟความเร็วสูง เรือยอร์ช หรืออุตสหกรรมใดๆ ที่จำเป็นต้องใช้วัสดุที่มีความแข็งแรงสูงแต่น้ำหนักเบา อย่างไรก็ตามสำหรับอุตสหกรรมหรือชิ้นส่วนใดๆ ที่ไม่ได้สร้างขึ้นมาขายด้วยราคาสูงมากนักก็อาจไม่มีความจำเป็นต้องใช้วัสดุคอมโพสิตยุคใหม่แต่อย่างใด 

ผลกระทบด้านต่อสังคมและชุมชน หากประเทศไทยพัฒนารุดหน้าไปเป็นประเทศผู้ผลิตเทคโนโลยี การนำเทคโนโลยีของวัสดุคอมโพสิตขั้นสูงจะมีบทบาทสำคัญและจะส่งผลโดยตรงต่อสภาพเศรษกิจและความเป็นอยู่ของประชากร การพัฒนาทางด้านสังคมและชุมชนก็จะได้รับการพัฒนาควบคู่กันไปกับด้านอื่นๆ 

ผลกระทบต่อการศึกษาและวิชาการ จากการพัฒนางานวิจัยอย่างต่อเนื่องจะทำให้เกิดความรุดหน้าทางวิชาการเพิ่มขึ้น หากมองศักยภาพตนเองเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมากับความสามารถของตนเองในปัจจุบันก็จะเปรียบเทียบได้ชัดถึงความก้าวหน้าทางวิชาการส่วนบุคคลได้ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นและความต่อเนื่องในการศึกษาและวิจัย ความสามารถการทำวิจัยในขั้นสูงจะทำให้เรามองภาพเนื้อหาการเรียนของนักศึกษาได้ถูกต้องและครอบคลุมดังนั้นสิ่งเหล่านี้จึงผลพลอยได้อีกประการที่จะส่งเสริมให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งในเรื่องการถ่ายทอดออกมาในรูปของการบรรยายหรือการเขียนออกมาเป็นตำราหรือหนังสือ 
 

การพัฒนาศักยภาพ ผลงานวิจัยในอนาคต
     การพัฒนาต่อยอดหรือการพัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักวิจัยทุกท่าน จากที่ได้กล่าวมานั่นคือหากศักยภาพของนักวิจัยมีการพัฒนาไม่สูงมากพอ การเคยได้รับการยอมรับในผลงานวิจัยก็จะลดน้อยลงไปเรื่อยๆ และอาจทำให้นักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีการพัฒนาตนเองอย่างรวดเร็วมีความสามารถและศักยภาพสูงกว่าได้ การแข่งขันเพื่อการตีพิมพ์ในวารสารที่มีคุณภาพสูงจะมีจำนวนในการตีพิมพ์จำกัดกับผลงานวิจัยที่ส่งมาให้พิจารณาต่อปีด้วยจำนวนมากนั้น การเลือกผลงานวิจัยที่ดีที่สุดเท่านั้นที่เป็นหนทางปฏิบัติของบรรณานุกรม ดังนั้นผู้วิจัยเองจะต้องพิจารณาผลลงานวิจัยที่ต้องตอบโจทย์ในหลายๆมิติให้ได้ เช่น ประโยชน์ที่ได้รับ ความทันสมัย เทคนิคหรือวิธีการใหม่ และอื่นๆ